top of page

แนวโน้มที่สำคัญด้าน IT ที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพ


การขับเคลื่อนการดำเนินงานในระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการและสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพต่อองค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันการรักษาและดูแลผู้ป่วยมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จากโรคภัยไข้เจ็บและจำนวนผู้ป่วยที่มีมากขึ้น การรับส่งข้อมูลสุขภาพระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ, ระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์, บันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์, ข้อมูลสุขภาพ, ระบบการส่งต่อ, เครือข่ายบริการสุขภาพ, การวินิจฉัย, การรักษา, การตรวจสุขภาพ และการบริหารจัดการต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

HIMSS องค์กรไม่แสวงหากำไรที่เป็นผู้บริหารและจัดการเรื่อง IT ทางด้านการแพทย์และพยาบาล ได้จัดงานแสดงสินค้า HIMSS 2019 ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ เมืองออร์แลนโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายในงานระดมสินค้าและบริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับ IT และเทคโนโลยี กว่า 1,300 ร้าน เข้ามาสู่สายตาของผู้ประกอบการด้านสุขภาพ โรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณสุข นักลงทุน นักวิจัย เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัป จากทั่วโลกรวม 50,000 กว่าคน งานนี้จึงเป็นงานแสดง eHealth ที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในธุรกิจด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่มีอิทธิพลสูงสุด ถ้าเดินทั่วงานก็จะเดาทางออกได้ด้วยตัวเองว่า แนวโน้มธุรกิจด้านสุขภาพในอนาคตจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน สำหรับในงานแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์ HIMSS 2019 พอจะรวบรวมแล้วสรุปได้เป็น 6 ทิศทางดังนี้คือ

1. The Rise of Augmented and Virtual Reality in Healthcare ถึงเวลาแล้วที่เทคโนโลยี AR และ VR จะแสดงบทบาททางการแพทย์ ในจำนวนผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ มีการนำเสนอการใช้งานเทคโนโลยี AR (augmented reality) และ VR (virtual reality) เป็นจำนวนมาก ซึ่งมากกว่าในปี 2018 อย่างเห็นได้ชัด สำหรับท่านที่ไม่เข้าใจว่า เทคโนโลยี AR และ VR คืออะไร พอจะอธิบายได้ดังนี้ AR คือ การรวมสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง กับ วัตถุเสมือนที่สร้างขึ้น เข้าด้วยกันในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น โปรแกรมการล่าโปเกมอนอันโด่งดัง ที่ตัวโปรแกรมจะไปสร้างตัวโปเกมอนเสมือนจริงขึ้นแล้วนำไปซ่อนอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ อันเป็นสถานที่จริงให้พวกเราวิ่งตามหา พอหาเจอก็จะได้แต้ม

ส่วน VR คือ การจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง โดยพยายามทำให้เหมือนจริงผ่านการรับรู้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น เสียง การสัมผัส หรือแม้กระทั่งกลิ่น และทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งที่จำลองนั้นได้ การใช้ VR ได้แก่ การสร้างแบบจำลองการฝึกบิน การสร้างแบบจำลองการสร้างอาคาร แล้วเข้าไปดูภายในอาคารได้เหมือนจริง แต่เป็นภาพที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมา

ปีนี้มีการนำเสนอการใช้งานเทคโนโลยี AR และ VR เพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น สามารถช่วยวางแผนในการผ่าตัดระบบประสาทอันสลับซับซ้อนได้ หรือทำภาพอัลตร้าซาวด์ 3 มิติ เพื่อให้เห็นลักษณะทางกายวิภาคได้ชัดเจนแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ในการให้คำปรึกษากับผู้ป่วย การเตรียมการก่อนผ่าตัด การให้ความช่วยเหลือแก่ทีมผ่าตัดระหว่างผ่าตัด และยังสามารถใช้ในการฝึกอบรมแพทย์ได้อีกด้วย

2. AI (Artificial Intelligence) AI คือ การทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายกับมนุษย์ หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์เลยก็ว่าได้ เป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกใช้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มันสามารถคิดเองได้ มีสติปัญญา และจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ปกติที่มนุษย์ต้องเป็นคนควบคุม และด้วยความอัจฉริยะจนน่าทึ่งนี่เอง ทำให้มันถูกเรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน AI ยังไม่สามารถคิดเอง ตัดสินใจเองได้ทั้งหมด ต้องอาศัยมนุษย์ในการตั้งค่า ตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ AI ดำเนินการ แต่งานแสดงคราวนี้ AI ก็เปลี่ยนรูปแบบจากการสาธิต กลายมาเป็นสินค้าใช้งานได้หลายราย ที่โดดเด่น คือ ฟิลิปส์ (Philips) และซีเมนส์ (Siemens) ที่สามารถปรับปรุงและเพิ่มความเร็วในการตรวจสอบบันทึกผู้ป่วยทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ AI เพื่อค้นหาข้อมูลผู้ป่วยและภาพถ่าย ทำให้สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น

3. Digital Health Records (การจัดการฐานข้อมูลด้านสุขภาพ) รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายสั่งการให้ทำการปฏิรูปการดูแลสุขภาพสถานพยาบาลทั้งหมด โดยเปลี่ยนจากระบบที่ใช้กระดาษเป็นเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMRs) ทำให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องปรับตัวแก้ไขวิธีการจัดเก็บเวชระเบียน และหลายแห่งมุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์ต่อยอดจากข้อมูลนี้ โดยการใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพร่วมกับระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าระบบที่กล่าวถึงนี้จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของโลกต่อไปในอนาคต

4. Creating Virtual Organs from Medical Imaging to Test Devices before Implant (การสร้างอวัยวะเสมือนจากภาพทางการแพทย์ไปยังอุปกรณ์ทดสอบก่อนปลูกถ่ายจริง)

Siemens Healthineers จากบริษัท Siemens ได้นำเสนอการสร้างภาพดิจิตอล 3 มิติของอวัยวะผู้ป่วย เพื่อทำการฝังอุปกรณ์และประเมินการทำงานหรือผลลัพธ์ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงก่อน เป็นการสร้างอวัยวะดิจิตอลที่มีลักษณะทางอิเล็กโทรวิทยาเหมือนกับหัวใจที่แท้จริงของผู้ป่วย เพื่อทดสอบการตอบสนองก่อนขั้นตอนการปลูกถ่ายจริง หัวใจคู่ดิจิตอลสามารถสะท้อนพฤติกรรมของหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังใช้ระบบนี้กับการจัดวางขดลวดเสมือนจริงในหลอดเลือดหัวใจหรือตำแหน่งเสมือนของลิ้นหัวใจเพื่อประเมินการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตได้อีกด้วย

5. Cybersecurity Tops Concerns with Electronic Medical Records (ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับบันทึกทางการแพทย์อิเล็กทรอนิกส์)

ความปลอดภัยทางไซเบอร์กลายเป็นความกังวลหลักของโรงพยาบาลและเป็นหัวข้อสำคัญที่ HIMSS 2019 จัดให้มีการสัมมนากันถึงประเด็นนี้ในหลาย ๆ แง่มุม โรงพยาบาลตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีระบบที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายจนมีค่าใช้จ่ายเป็นล้าน ๆ ทำให้ระบบหยุดชะงักหรือข้อมูลถูกแฮกโดยแฮกเกอร์ ในงาน HIMSS จึงมีผู้พัฒนาระบบจำนวนมากนำเสนอซอฟต์แวร์ความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์เสริมที่เชื่อมต่อกับระบบข้อมูลโรงพยาบาล เมื่อติดตั้งบนเครือข่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว แพลตฟอร์มสามารถตรวจจับสัญญาณเริ่มต้นของการโจมตีและประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเพื่อช่วยอุดช่องโหว่ หรือป้องกันการหลุดจากระบบการป้องกันของเครือข่ายออกไปได้

6. Integrating Wearable Devices into Patient Care (ปรับอุปกรณ์ที่สวมใส่ให้เข้ากับการดูแลผู้ป่วย) อุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทติดตัวที่มีอยู่ในตลาดได้แก่ Apple Watch, Fitbits, Garmins ต่างก็เข้ามาร่วมงานกันอย่างครบถ้วน มาพร้อมด้วยประสิทธิภาพของการตรวจจับและวัดผลที่แม่นยำกว่าเดิม มีข้อมูลตัวเลขที่อุปกรณ์สามารถตรวจวัดได้มากขึ้น พร้อมกับระบบการจัดเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือของผู้ป่วยที่ติดตั้งเครื่องมือได้เลย และเชื่อมโยงไปยังระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อใดที่ค่าตัวเลขที่จับวัดได้มีความเสี่ยง หรือ มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเจ็บป่วย ก็จะมีการเตือนไปยังผู้ป่วยที่สวมใส่อุปกรณ์อยู่ทันที

โดยสรุปแล้ว การแพทย์กับระบบ IT นับวันจะเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากขึ้นในทุก ๆ ด้าน แต่ด้านที่จะเป็นพื้นฐานของการต่อยอดในลำดับต่อไป คือ การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ซึ่งข้อมูลในทางการแพทย์ล้วนแต่เป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ มีความสลับซับซ้อนและเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิต ความถูกต้องแม่นยำ และ ปลอดภัย จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้การเข้าถึงข้อมูล เรียกใช้ข้อมูล การนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ ตลอดจนการเก็บรักษาข้อมูล สามารถทำได้สะดวกมากขึ้น พระเอกของงาน HIMSS 2019 จึงเป็นการบริหารจัดการ Big data และส่วนที่เชื่อมต่อเกี่ยวเนื่องกับเนื้องาน Big data อันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบสาธารณสุขในยุคปัจจุบัน

ศูนย์ธรรมชาติบำบัดเวลเนสเเคร์ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

ดู 575 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page